วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

10. 10 เทคนิควิธีพูดอังกฤษให้ไหลลื่น สำเนียงเลิศ


 1. อย่ากลัวความผิดพลาดและกังวลกับหลักไวยากรณ์มากเกินไป
     
        ปัญหาใหญ่สำหรับคนที่กำลังหัดพูดภาษาอังกฤษ ที่ฝรั่งมักจะเรียกว่าเป็นอาการ “mental blocks” คือมีบางสิ่งในจิตใจที่ขัดขวางทำให้ไม่สามารถเข้าใจหรือทำอะไรบางอย่างได้ กลัวว่าจะพูดผิด อายถ้าพูดประโยคภาษาอังกฤษได้ไม่สมบูรณ์แบบและไม่ถูกต้องเป๊ะๆ ตามหลักไวยากรณ์ ที่ท่องกันเป็นนกแก้วนกขุนทอง ความกังวลเหล่านั้นจะทำให้คุณรู้สึกอึดอัดและพูดไม่ได้สักที จำเอาไว้ว่า “การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าความสมบูรณ์แบบ”
     
        ลองนึกภาพ คนๆ หนึ่งพูดว่า “Yesterday I go to party in beach.” ซึ่งประโยคนี้ผิดหลักไวยากรณ์แน่ๆ ที่ถูกต้องคือ “Yesterday I went to a party on the beach.” แต่ทั้งสองประโยคกลับสื่อสารได้ความเดียวกันว่า “เมื่อวานฉันไปปาร์ตี้ที่ชายหาดมา” ความผิดพลาดไม่ใช่สิ่งร้ายแรง ก็แค่ลองใหม่แก้ไขไปเรื่อยๆ หายใจเข้าลึกๆ อย่าอายถ้ามันจะผิดพลาดหรือไม่ถูกหลักไวยากรณ์นัก เพราะการสื่อสารให้เข้าใจกันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดจำไว้
     
       2. เริ่มต้นจากการฟัง
     
        อยากพูดภาษาอังกฤษให้คล่องเราต้องเริ่มฟังกันก่อน ไม่ว่าจะเป็นบทสนทนาภาษาอังกฤษ หรือจะดูหนัง ฟังเพลง เลือกแบบที่เราชอบได้เลย สำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษเลยควรเริ่มจากการฟังบทสนทนาง่ายๆ ก่อน จะช่วยให้เราคุ้นเคยกับสำเนียงของเจ้าของภาษา และยังได้เรียนรู้ศัพท์ภาษาอังกฤษที่ใช้ในการพูดทั่วๆ ไปด้วย ต่างจากการดูหนัง หรือฟังเพลงภาษาอังกฤษ เพราะอาจจะมีการใช้คำยากๆ ซึ่งสำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานมาดีพอ แทนที่จะได้ฝึกการฟังกลับต้องมาคอยเปิด Dictionary ตีความหมายแทน
     
        เคล็ดลับในการฟังให้ได้ผลก็คือ “ฟังอย่างเข้าใจ และฟังอย่างต่อเนื่อง” เข้าใจคือเลือกฟังอะไรที่ง่ายไม่ยากเกินไป อย่างเช่น ข่าวภาษาอังกฤษที่ทั้งยากและเร็ว ฟังกี่ปีกี่ชาติก็ไม่มีวันเข้าใจ ฟังมากแค่ไหนก็ไม่ช่วยอะไร ดังนั้นเลือกง่ายๆ เข้าไว้แล้วค่อยพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ จะดีกว่า และฟังอย่างต่อเนื่อง วันละ 1-2 ชั่วโมง สามารถแบ่งเป็นเช้า 20 นาที เที่ยง 20 นาที และเย็นอีก 20 นาที ก็ได้ ตามสะดวกแต่เน้นว่าต้องฟังทุกวัน ห้ามวันเว้นวันโดยเด็ดขาด แล้วคุณจะเห็นผลที่ตามมาในมีกี่สัปดาห์ คอนเฟิร์ม!!!
     
       3. ฟังแล้วตอบ
     
        การฟังเพื่อให้เราเข้าใจภาษาอังกฤษได้มีประสิทธิภาพและสามารถโต้ตอบได้ ไม่ใช่ฟังซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง เพื่อให้จำเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการ “ฟังและตอบคำถาม” ในขั้นตอนแรกของการฝึกพูดภาษาอังกฤษให้ดี นั่นคือ การฟังจากบทสนทนาภาษาอังกฤษง่ายๆ เมื่อเราฟังแล้ว ลอง “Pause” ในช่วงของคำตอบ แล้วฝึกตอบอย่างรวดเร็ว จากคำถามที่เราฟัง ฝึกให้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องคิด ภาษาอังกฤษของคุณก็จะกลายเป็นระบบอัตโนมัติไปโดยปริยาย หรือลองฝึกด้วยการหาติวเตอร์ชาวต่างชาติมาช่วยเล่าเรื่องราวสักหนึ่งเรื่อง เริ่มจากง่ายๆ ก่อน เมื่อเล่าจบให้เขาลองถามคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่เล่าให้ฟัง จะทำให้คุณคิดคำตอบได้อย่างรวดเร็วนั่นเอง
     
       4. เรียนรู้เป็นภาพ ไม่ใช่ตัวอักษร
     
        ก่อนที่จะพูดภาษาอังกฤษได้ต้องมีการซ้อม การเตรียมความพร้อม ต้องถามตัวเองก่อนว่ามีคลังคำศัพท์มากพอหรือยัง? เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราไม่สามารถสื่อสารหรือพูดภาษาอังกฤษได้นั้นเพราะเราไม่รู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษเลยไม่รู้ว่าจะตอบฝรั่งชาวต่างชาติได้อย่างไร ท่องจำกันตั้งแต่เล็กจนโตก็จำได้บ้างไม่ได้บ้าง ถึงเวลาจริงก็นึกไม่ออกไม่รู้จะหยิบคำไหนมาใช้ ดังนั้น ต่อไปนี้เราต้องมาเรียนรู้และจำคำศัพท์ภาษาอังกฤษในรูปแบบใหม่ “เลิกท่องศัพท์ ถ้าอยากพูดภาษาอังกฤษได้” เอ๊ะ...ยังไง!!!
     
        ต้องเลิกท่องคำศัพท์เป็นคำๆ ท่อง 1,000 คำ ก็จำไม่ได้เชื่อเถอะ ลองหันมาใช้วิธีการเรียนรู้คำศัพท์เป็นภาพ และเรื่องราวแทนการจดคำศัพท์เป็นลิสต์ยาวๆ พร้อมคำแปล แล้วนั่งท่องนอนท่อง วิธีนั้นลืมไปได้เลย ลองเปลี่ยนมาเป็นการเรียนรู้คำศัพท์แบบเป็นวลี ไม่จำเป็นคำๆ เวลาที่เจอคำศัพท์ใหม่ๆ ให้จดลงในสมุดโน้ต พร้อมกับวลีสั้นๆ จะทำให้การพูดและหลักไวยากรณ์ของคุณดีขึ้นอย่างรวดเร็ว



        5. หยุดท่องหลักไวยากรณ์
     
        เด็กไทยส่วนเริ่มเรียนภาษาอังกฤษมาพร้อมๆ กับการเริ่มท่องกฎไวยากรณ์ “S. + V.to be + V.เติม ing” เป็น Present Continuous Tense ท่องๆ ไปเรื่อยๆ พร้อมกับคำศัพท์รูปกริยาที่เปลี่ยน ช่อง 1, 2, 3 ถ้าเริ่มต้นด้วยวิธีท่องหลักไวยากรณ์แล้ว 60 เปอร์เซนต์ จะคุยกับฝรั่งไม่ได้เลย อีก 30 เปอร์เซนต์ จะแค่พอพูดได้แบบตะกุกตะกัก ซึ่งมีเพียง 10 เปอร์เซนต์เท่านั้น ที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว สำเนียงเป๊ะ เด็กอเมริกันแท้ๆ ไม่เคยต้องเรียน Grammar จนกระทั่งถึงมัธยม บางคนเพิ่งมาเริ่มเรียน Present Tense ตอนอายุ 15-16 ปีแล้ว ด้วยซ้ำ
     
        ถ้าจะฝึกพูดภาษาอังกฤษให้ได้ต้องหยุดท่องหลักไวยากรณ์ เพราะนั่นเป็นวิธีที่ผิด เด็กๆ ชาวต่างชาติจะพูดภาษาอังกฤษจากการเรียนรู้เองโดยธรรมชาติ จากการฟัง สังเกตและเลียนเสียงพูดจนคล่องก่อนจะเริ่มเรียนหลักไวยากรณ์ เหมือนเด็กไทยที่เรียนรู้และพูดคำว่า “แม่” จากการฟังและฝึกออกเสียง แล้วค่อยมาเรียนรู้วิธีการผสมคำในภายหลังนั่นเอง จริงๆ แล้วก็ใช้หลักในการเรียนรู้ภาษาเหมือนกันทั่วโลก
     
       6. เรียนรู้แบบช้าๆ แต่ลึกซึ้ง
     
        เคล็ดลับที่จะทำให้คุณพูดภาษาอังกฤษได้อย่างง่ายดายนั่นก็คือ การเรียนรู้ทุกคำ และทุกวลีอย่างลึก (Deeply) ไม่ใช่แค่เรียนรู้ความหมาย ไม่ใช่แค่จำเพื่อไปทำข้อสอบ แต่คุณจะต้องเรียนรู้มันอย่างลึกซึ้ง ลึกลงไปในสมอง การพูดภาษาอังกฤษให้ได้ง่ายคุณต้องทำซ้ำหลายๆ ครั้ง ในแต่ละบทเรียน ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณมีหนังสือบทสนทนาภาษาอังกฤษ 1 เล่ม ในบทแรกให้ฟัง 30 ครั้ง ก่อนที่จะผ่านไปบทที่ 2 โดยสามารถแบ่งเป็น 3 ครั้งในแต่ละวัน ให้ทำแบบนี้ไปจนครบ 10 วัน ต่อหนึ่งบท อย่าเพิ่งท้อ ท่องไว้ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม ฟังจนฝังลึกลงไปในสมอง ไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยากจนเกินไปขอเพียงตั้งใจจริง
     
       7. อย่าแปลเป็นไทย
     
        สาเหตุที่คนไทยส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้แม้ว่าอาจจะฟังออกก็ถาม นั่นก็คือ การแปลประโยคต่างๆ เป็นภาษาไทยก่อนตอบ ซึ่งการพูดได้อย่างเป็นอัตโนมัติคือ ฟัง-คิด-พูด ต้องเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด โดยไม่มีการแปลเป็นไทยในหัว เพราะฉะนั้น เราควรพยายามแปลเป็นไทยให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ระบบที่คนไทยส่วนใหญ่คิดคือ ฟังภาษาอังกฤษเข้าหูปุ๊บมาแปลเป็นไทย คิดคำตอบภาษาไทย แล้วแปลตอบออกไปเป็นภาษาอังกฤษอีกที ซึ่งกว่าจะหลุดคำตอบออกมาได้ต้องผ่านขั้นตอนหลายอย่าง ผลคือพูดออกมาแบบตะกุกตะกัก ไม่ไหลลื่นและเป็นธรรมชาติ วิธีการเรียนภาษาที่ถูกต้องก็คือ ต้องพยายามแปลให้น้อยที่สุดหรือไม่แปลเลยได้ยิ่งดี เน้นความเข้าใจความหมายเป็นภาพของมันจริงๆ



        8. เรียนรู้ที่จะคิดให้เป็นภาษาอังกฤษ
     
        หนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะทำให้คุณพูดภาษาอังกฤษได้นั่นก็คือ “การคิดให้เป็นภาษาอังกฤษ” อีกหนึ่งวิธีที่ดีที่สุดที่ในการเรียนรู้ และจะทำให้คุณพูดได้อย่างง่ายดาย ไม่ต้องอายถ้าเกิดความผิดพลาดขึ้นมา เพราะไม่มีใครรู้!!!! โดยคุณสามารถทำตามกระบวนการและขั้นตอนได้ ดังนี้
       
       Level 1 : คิดคำศัพท์ภาษาอังกฤษในแต่ละวันของคุณ
     
       เมื่อคุณตื่นขึ้นมาในตอนเช้าให้คิดคำศัพท์ขึ้นมา 1 ชุด เช่น
     
        bed, toothbrush, bathroom, eat, banana, coffee, clothes, shoes
     
       หรือถ้าคุณกำลังนั่งทำงานอยู่ก็คิดถึงคำศัพท์ขึ้นมาอีก 1 ชุด
     
       car, job, company, desk, computer, paper, pencil, colleague, boss
     
       Level 2 : ลองเอาคำศัพท์มาแต่งให้เป็นประโยค
     
       เมื่อคุณกำลังนั่งกินอาหารกลางวันอยู่ คิด…
     
       • I’m eating a sandwich.
       • My friend is drinking soda.
       • This restaurant is very good.
     
       ขณะที่คุณกำลังนั่งดูทีวีอยู่ คิด…
     
       • That actress is beautiful.
       • The journalist has black hair.
       • He’s talking about politics.
     
       Level 3 : สุดท้ายจินตนาการประโยคภาษาอังกฤษทั้งหมดให้เป็นเรื่องราวขึ้นมาในหัวของคุณ โดยให้คิดเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด เช่นในขณะที่คุณออกกำลังกาย หรือกำลังรอรถไฟฟ้า รถเมล์ ให้ลองนึกบรรยายเหตุการณ์ต่างๆ บอกเล่าเรื่องราวในหัวคุณให้เป็นภาษาอังกฤษ คุณจะรู้สึกผ่อนคลาย เพราะนี่เป็นเพียงความคิด ยังไม่ได้พูดจริงๆ
     
       9. พูดด้วยคำศัพท์ที่แตกต่าง ดูดีมีความคิดสร้างสรรค์
     
        สองอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้การพูดภาษาอังกฤษดูไม่คล่องแคล่วมั่นใจ นั่นก็คือ “ไม่รู้ศัพท์ และ การหยุดหรือลังเล” ซึ่งทั้งสองอย่างนี้มักมาพร้อมกันเสมอ หลายครั้งที่คุณพูดภาษาอังกฤษแต่นึกคำศัพท์ไม่ออก นั่นก็เป็นอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้เราพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เออๆ อ่าๆ...เพราะมัวแต่คิดถึงคำศัพท์ที่เคยท่องไว้ คราวนี้เราลองมาเปลี่ยนวิธีใหม่ ถ้านึกไม่ออกก็ไม่เป็นไร ลองหาคำอื่นมาอธิบายขยายความเอาก็ได้
     
        ถ้าคุณจะบอกว่า “หัวหอม” ภาษาอังกฤษคือ “onion” แต่นึกคำศัพท์ไม่ออกก็ให้อธิบายไปว่า “the white vegetable that when you cut it you cry” นี่เป็นคำบรรยายที่เข้าใจได้ ว่าสิ่งที่คุณกำลังจะสื่อสารหมายถึงอะไร รวมไปถึงคำศัพท์อื่นๆ ที่จะใช้แทนกันได้ในภาษาอังกฤษ เช่น การกล่าวทักทาย ที่นอกจาก “hello” แล้วมีคำว่าอะไรบ้าง หรือการกล่าวลา วลีของการล่ำลาในภาษาอังกฤษนั้นก็มีมากมายหลายสถานการณ์ด้วยกัน
     
       10. ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
       
        เปลี่ยนสภาพแวดล้อมของคุณให้เต็มไปด้วยภาษาอังกฤษ ถือเป็นการฝึกฝนไปในตัว แต่ถ้าจะให้ง่ายและรวดเร็วที่สุดนั่นก็คือ “พยายามหาเพื่อนที่เป็นชาวต่างชาติ” นอกจากจะได้เพื่อนแล้ว เรายังได้ฝึกภาษาด้วย ที่สำคัญเพื่อนชาวต่างชาตินี่แหละที่จะช่วยคุณแก้ไขคำผิด ทั้งคำศัพท์ รูปประโยคและหลักไวยากรณ์ต่างๆ ให้คุณได้ พยายามหาเพื่อนฝรั่งคุยแชทบ้าง คุย Skype บ้าง เพื่อเป็นการฝึกภาษาและฟังสำเนียงที่ถูกต้องนั่นเอง
     
        แนะนำให้ใช้ภาษาอังกฤษทุกวันๆ ละ 10 นาที และจะดีมากๆ ถ้าคุณใช้ภาษาอังกฤษมากกว่า 1 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ แม้ว่าคุณจะไม่ได้อยู่ในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ แต่ก็ยังมีวิธีอีกมากมายที่จะทำให้ภาษาอังกฤษมีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันของคุณ เช่น ฟังภาษาอังกฤษในขณะที่คุณกำลังขับรถไปทำงาน, อ่านข่าวหรือฟังข่าวออนไลน์เป็นภาษาอังกฤษแทนภาษาไทย, ฝึกการคิดเป็นภาษาอังกฤษในขณะที่คุณกำลังทำงานบ้านหรือออกกำลังกาย, อ่านบทความ ฟังพอดคาสต์ หรือดูวิดีโอภาษาอังกฤษในแบบที่คุณชอบ เป็นต้น

แหล่งที่มา :  www.espressoenglish.net/how-to-speak-fluent-english-top-10-tips
                     www.mindenglish.net

9.อยากเก่งภาษาอังกฤษทำอย่างไร

ในโลกปัจจุบัน ความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษเป็นสิ่งสำคัญทั้งในชีวิตการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน สำหรับคนไทยหลายๆ คน ภาษาอังกฤษเป็นเรื่องที่น่าสะพรึงกลัวและมักจะหลีกเลี่ยงการต้องพูดภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติหรือการพูดภาษาอังกฤษต่อหน้าคนอื่นๆ เพราะขาดความมั่นใจและทักษะ บางคนกังวลว่าสำเนียงไม่ดี แกรมม่าร์ไม่ได้ จึงทำให้ไม่กล้าที่จะฝึกพูด
วันนี้ เรามีข้อแนะนำดีๆ สำหรับทุกๆ คนที่เคยถามว่า “อยากเก่งภาษาอังกฤษทำอย่างไร” โดยข้อแนะนำทั้งหมดเป็นสิ่งที่คุณสามารถทำได้เองโดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าเรียนมากมายให้กับโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษที่ไหน และสามารถเริ่มทำได้เองจากที่บ้าน



  • เปิดหู


รอบๆ ตัวเรามีสื่อต่างๆ มากมายที่เราสามารถใช้ให้เป็นประโยชน์ในการเรียนภาษาอังกฤษได้ ทั้งเพลง หนัง ซีรี่ส์ ข่าว เจียดเวลาสักนิดในแต่ละวันเพื่อหาสิ่งที่คุณสนใจ ถ้าคุณชอบฟังเพลง ลองเลือกเพลงของศิลปินที่คุณชื่นชอบไว้ฟังเพื่อเรียนภาษาอังกฤษจากเพลง แต่อย่าลืมว่า ถ้าสักแต่ฟังไปโดยไม่ได้เปิดหู คุณก็จะได้ยินแต่สิ่งเดิมๆ การออกเสียงภาษาอังกฤษแบบเดิมๆ ที่คุณถูกสอนมาในโรงเรียนโดยอาจจะเป็นวิธีออกเสียงที่ผิด ฉะนั้น อย่าเพียงแค่ฟัง แต่ต้องเปิดหูฟังว่าเจ้าของภาษาออกเสียงอย่างไร การเปิดดิกชันนารีที่มีคำอ่านภาษาอังกฤษก็สามารถช่วยให้คุณอ่านออกเสียงตามได้ง่ายขึ้น


  • เปิดตา


หัดเป็นคนช่างสังเกต อย่าสักแต่ว่าอ่านแล้วเปิดดิกชันนารีเพื่อดูคำแปลของคำศัพท์ภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียว เพราะการอ่านนั้นมีประโยชน์มากกว่าเพียงแค่การเรียนรู้คำศัพท์ หัดสังเกตรูปแบบประโยค โครงสร้างประโยค เพื่อเรียนรู้ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษไปในตัว เริ่มจากประโยคสนทนาภาษาอังกฤษง่ายๆ สังเกตว่า คำนามอยู่ตรงไหน กิริยาอยู่ตรงไหน ทำไมกิริยาบางตัวเติม s บางตัวไม่เติม ทำไมกิริยาบางตัวเป็นรูปอดีต ปัจจุบัน อนาคต การอ่านข่าวภาษาอังกฤษแปลไทยเป็นหนึ่งในวิธีที่จะทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทั้งคำศัพท์ภาษาอังกฤษและไวยากรณ์ภาษาอังกฤษได้ควบคู่กัน


  • เปิดปาก


สำหรับคนที่ต้องการพูดภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงที่ใกล้เคียงกับเจ้าของภาษานั้น คุณจำเป็นที่จะต้องฝึกออกเสียงภาษาอังกฤษและฝึกพูด สำหรับคนที่ไม่ได้มีเพื่อนเป็นชาวต่างชาติหรือสามารถจ่ายเงินเรียนคอร์สสอนภาษาโดยชาวต่างชาติได้ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะฝึกพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ หลังจากคุณเปิดหูฟังเจ้าของภาษาออกเสียงภาษาอังกฤษอย่างถูกต้องแล้ว ต้องเปิดปากเพื่อออกเสียงตาม (ในส่วนนี้อาจจะต้องอาศัยอินเนอร์ในระดับหนึ่ง จำไว้ว่าความอายหรือความเขินไม่ช่วยคุณ ณ จุดนี้) สำหรับคนที่ชอบฟังเพลง คุณสามารถร้องเพลงตามได้ (แต่ไม่ใช่สักแต่ว่าร้องไปโดยออกเสียงแบบที่คุณมโนว่าถูกต้องเอง) สำหรับคนที่ชอบดูซีรี่ส์ฝรั่ง หัดพูดประโยคต่างๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า พูดจนคุณคิดว่าสำเนียงคุณเริ่มคล้ายเจ้าของภาษาเข้าไปทุกที


คำแนะนำ 3 ข้อนี้ เป็นสิ่งที่คุณสามารถเริ่มทำเองได้ตั้งแต่วันนี้ บทเรียนต่างๆ บนเว็บสอนภาษาอังกฤษฟรีนี้จะช่วยให้คุณสามารถ เปิดหู เปิดตา และเปิดปาก ได้อย่างง่ายดาย ไม่ต้องเสียสตางค์ และมีประสิทธิภาพที่สุด เพียงแค่เลือกบทเรียนที่เหมาะกับพื้นฐานภาษาอังกฤษของคุณ
ภาษาอังกฤษพื้นฐาน
ภาษาอังกฤษระดับกลาง
ภาษาอังกฤษขั้นสูง

แหล่งที่มา : http://thai.langhub.com

8.ผล O-Net ม.6 คะแนนเฉลี่ย "อังกฤษ" ลด

สทศ. ประกาศ O-Net ม.6 พบเด็กทำคะแนนเต็ม 100 แค่ 1 วิชา คือ คณิตศาสตร์ จำนวน 305 คน ส่วนคะแนนเฉลี่ยเกินครึ่งมีเพียง 2 วิชาเท่านั้น



รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผย ว่า ตามที่ สทศ. ได้ดำเนินการจัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประจำปีการศึกษา 2557 จัดสอบในวันที่ 7 - 8 กุมภาพันธ์ 2558

และมีกำหนดประกาศผลสอบในวันที่ 21 มีนาคม 2558 นั้น ขณะนี้ สทศ. ได้ทำการประมวลผลคะแนนและประกาศผลสอบ เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเร็วกว่าที่กำหนดไว้ 2 วัน โดยนักเรียนสามารถตรวจสอบคะแนนได้ทางเว็บไซต์ สทศ. สำหรับมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาที่ต้องการตรวจสอบผลคะแนนสอบ O-Net ม.6 สำหรับคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาสามารถตรวจสอบผลคะแนน ผ่านทางระบบ RPS ทางเว็บไซต์ สทศ. www.niets.or.th



ทั้งนี้ สทศ. ได้วิเคราะห์ค่าสถิติ จำแนกตามวิชา ดังนี้

วิชาภาษาไทย คะแนนเต็ม 100 เฉลี่ย 50.76 สูงสุด 95.00 ต่ำสุด 0

สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม คะแนนเต็ม 100 เฉลี่ย 36.53 สูงสุด 81.00 ต่ำสุด 0

ภาษาอังกฤษ คะแนนเต็ม 100 เฉลี่ย 23.44 สูงสุด 99.00 ต่ำสุด 1.00

คณิตศาสตร์ คะแนนเต็ม 100 เฉลี่ย 21.74 สูงสุด 100 ต่ำสุด 0

วิทยาศาสตร์ คะแนนเต็ม 100 เฉลี่ย 32.54 สูงสุด 93.00 ต่ำสุด 0

สุขศึกษา คะแนนเต็ม 100 เฉลี่ย 51.94 สูงสุด 92.50 ต่ำสุด 2.50

ศิลปะ คะแนนเต็ม 100 เฉลี่ย 34.64 สูงสุด 79.00 ต่ำสุด 0

และการงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยี คะแนนเต็ม 100 เฉลี่ย 49.01 สูงสุด 88.00 ต่ำสุด 0 

รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวว่า ภาพรวมผลสอบ O-Net ม.6 ครั้งนี้มีนักเรียนเข้าสอบประมาณ 430,000 คน ส่วนใหญ่มีคะแนนเฉลี่ยสูงขึ้นจากปีการศึกษา 2556 โดยวิชาที่คะแนนเฉลี่ยสูงขึ้น เมื่อเทียบกับคะแนนเฉลี่ยของปีที่ผ่านมา จำนวน 5 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ ส่วนวิชาที่คะแนนเฉลี่ยลดลง เมื่อเทียบกับคะแนนเฉลี่ยของปีที่ผ่านมา จำนวน 2 วิชา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ สุขศึกษา และพลศึกษา ขณะที่วิชาที่คะแนนเฉลี่ยคงที่ เมื่อเทียบกับคะแนนเฉลี่ยของปีที่ผ่านมา

จำนวน 1 วิชา ได้แก่ วิชาการงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยี โดยมี คณิตศาสตร์ วิชาเดียวที่นักเรียนทำคะแนนได้ 100 คะแนนเต็ม จำนวน 305 คน ส่วนวิชาอื่นไม่มีนักเรียนทำได้เต็ม 100 ซึ่งอาจเป็นเพราะข้อสอบของ สทศ. ค่อนข้างยาก เน้นการคิด วิเคราะห์และนำไปใช้ ดังนั้น โรงเรียนควรปรับกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นให้นักเรียนใช้ทักษะกระบวนการคิดมากขึ้น

ขณะที่วิชาสุขศึกษาฯ ศิลปะ และการงานพื้นฐานอาชีพฯ ที่คะแนนค่อนข้างต่ำ อาจเป็นเพราะนักเรียนไปทุ่มเท กับ 5 วิชาหลัก เพราะต้องนำไปใช้ในการเข้ามหาวิทยาลัย มากกว่า 3 วิชาดังกล่าวสำหรับที่มีคะแนนต่ำสุด 0 เกือบทุกวิชา ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ละวิชามีเพียง 0.001% ของจำนวนผู้เข้าสอบ

แหล่งที่มา : http://campus.sanook.com/1376885/

7.แนะนำ 10 วิธีเจ๋งๆ ในการฝึกภาษาอังกฤษ ให้เก่งได้ด้วยตัวเอง !!

การฝึกภาษาอังกฤษ อาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับหลายคน แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกยุคปัจจุบันและอนาคต ภาษาอังกฤษจะมีบทบาทสำคัญและสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นการรู้ภาษาย่อมทำให้ได้เปรียบนั่นเอง



สำหรับใครที่มีปัญหาเรื่องการฝึกภาษาอังกฤษ วันนี้เราก็มีข้อมูลมาแนะนำให้ลองทำด้วย 10 วิธีการฝึกภาษาอังกฤษด้วยตนเอง ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะยากเกินไป





1. ตามอ่านอะไรที่เราสนใจ
ตอนเด็กๆหลายคนอาจจะไม่ชอบภาษาอังกฤษ เพราะโดนครูบังคับให้อ่านเรื่องอะไรก็ไม่รู้ แต่ลองเริ่มอ่านเรื่องที่เราสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูน กีฬา ดนตรี ข่าวซุบซิบดาราฝรั่ง หรือมุมขำๆในหนังสือพิมพ์ จำไว้เลยว่าไม่มีอะไรไร้สาระ เพราะเรากำลังเรียนรู้อยู่

2. ฟังวิทยุให้ชิน
การฟังวิทยุนั้นจะช่วยให้เราได้ฟังทั้งเสียงคนพูด รวมถึงเสียงร้องเพลง เป็นการฝึกหูในชินกับภาษาในหลายๆรูปแบบอีกวิธีหนึ่งด้วย

3. ไม่จำเป็นต้องแปลเป็นภาษาไทย
การฝึกภาษาอังกฤษให้เข้าใจนั้น ไม่จำเป็นที่เราต้องอ่านหรือฟังแล้วแปลเป็นภาษาไทย อาจจะสงสัยว่าไม่แปลเป็นไทยแล้วจะเข้ะาใจยังไง การไม่พยายามแปลเป็นไทยจะช่วยให้เราสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วขึ้นด้วย

4. แปะกระดาษโน้ตบนสิ่งของต่างๆ
วิธีนี้จะเหมือนการเอาข้าศึกมาล้อมเมือง การแปะชื่อสิ่งของต่างๆที่เราใช้เป็นภาษาอังกฤษ ช่วยทำให้ชีวิตได้คุ้นเคยกับคำเหล่านี้มากขึ้น และเป็นการฝึกอ่านฝึกความเข้าใจไปในตัวด้วย

5. ดูทีวีและภาพยนตร์ภาษาอังกฤษ
การดูภาพ ฟังเสียง และอ่านซับไตเติ้ลภาษาไทยไปพร้อมๆกัน ช่วยฝึกประสาทการรับรู้ในหลายๆช่องทาง ซึ่งต่อไปก็สามารถเปลี่ยนจากซับไทย เป็นซับอังกฤษ ไปจนถึงขั้นปิดซับได้ในท้ายที่สุด

6. เล่นเกมที่ใช้คำภาษาอังกฤษบ่อยๆ
สมัยนี้มีเทคโนโลยีอย่างสมาร์ทโฟน เราจึงสามารถหาแอพพลิเคชั่นเกมภาษาอังกฤษ เช่น Crosswords มาเล่นแก้เบื่อในยามว่างได้ ทีนี้ก็ลองเปลี่ยนจากแชทไลน์มาเป็นเล่นเกมแนวนี้แทน จะช่วยพัฒนาได้อีกทาง

7. ใช้คำต่างๆเป็นภาษาอังกฤษมากขึ้น
วิธีนี้หลายคนอาจจะมองดูว่ากระแดะหรือเปล่า? จริงๆแล้วเป็นเพียงการใช้คำให้ถูกกับภาษาอังกฤษมากขึ้น โดยพยายามพูดอังกฤษบ่อยๆในศัพท์ที่ใช้ได้ เช่นเปลี่ยนคำว่ามือถือ เป็น Smart Phone เปลี่ยนคำว่า นาฬิกาปลุก เป็น Alarm เป็นต้น

8. ทำลิสต์ต่างๆให้เป็นภาษาอังกฤษ
ขั้นตอนนี้อาจจะลำบากในตอนแรก แต่ถ้าเราลองลิสต์ต่างๆให้เป็นอังกฤษจะช่วยเราให้คุ้นเคยได้มากขึ้น อย่างเช่น ลิสต์กิจกรรมที่ต้องทำพรุ่งนี้ ลิสต์ตารางไปเที่ยวพักผ่อน หรือลิสต์ของที่ต้องซื้อเข้าบ้าน ให้เป็นภาษาอังกฤษซะ

9. ลงทุนซื้อ Dictionary ดีๆสักเล่ม
นี่คือการลงทุนที่คุ้มค่า แม้จะมีราคาค่อนข้างแพงไปบ้าง แต่ก็ช่วยให้เราสามารถเข้าใจและพัฒนาภาษาไปได้ดีกว่า (สำหรับคนทุนน้อยจริงๆ ข้อนี้อาจจะข้ามไปได้บ้าง)

10. เราชอบอะไร ทำสิ่งนั้นเป็นภาษาอังกฤษ
ความชอบ ความรัก มันทำให้เราสามารถทำอะไรก็ได้อย่างมีความสุขและไม่น่าเบื่อ ถ้าชอบทำอาหาร ก็เปลี่ยนเมนูอาหารเป็นภาษาอังกฤษ ถ้าชอบเล่นกีฬาหรือดนตรี ก็ดาวน์โหลดวิดีโอการฝึกซ้อมแบบภาษาอังกฤษมาดู ถ้าชอบเล่นเกมก็ฝึกอ่านคู่มือเกมภาษาอังกฤษ เราก็จะหลงรักมันโดยไม่รู้ตัวเลยล่ะ

แหล่งที่มา : settlementatwork

6.5 เทคนิคลับฝึกภาษาอังกฤษ : ให้พูดเก่งขั้นเทพ! Top 5 secret tips for Speaking English Fluently!!



5 เทคนิคลับฝึกภาษาอังกฤษ : ให้พูดเก่งขั้นเทพ!
.
Top 5 secret tips for Speaking English Fluently!!
.
.
.
วันนี้จะมาเปิดเผย 5 เทคนิคลับในการฝึกพูดภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง ให้พูดอังกฤษได้คล่องอย่างกับพ่นไฟ!
.
.
.
1. Start with Listening! เริ่มต้นจากการฟัง!
.
ถ้าคุณอยากพูดภาษาอังกฤษได้ คุณต้องเริ่มต้นจากการฟัง!
.
ฟัง ฟัง ฟังแล้วก็ฟัง!
.
หัวใจสำคัญ 2 ข้อก็คือ คุณต้องเลือกฟังสื่อที่ไม่ยากเกินไปสำหรับคุณ (รู้ศัพท์ในสื่อนั้นๆมากกว่า 80%)
.
และข้อที่ 2 คือคุณต้องฟังทุกวัน! อย่างมีวินัยและตั้งใจ วันละ 1 ชั่วโมงขึ้นไป (แบ่งได้ เช้า 20 นาที เที่ยง 20นาที และเย็นอีก 20 นาที เวลารถติดก็ฟังได้)
.
เรากล้าท้าเลย ถ้าคุณฟังภาษาอังกฤษทุกวัน 1 เดือนผ่านไปคุณจะแปลกใจตัวเอง ว่าทำไมเราเก่งภาษาอังกฤษขึ้นขนาดนี้
.
แต่ถ้าคุณฟังภาษาอังกฤษทุกวันตลอด 1 ปี คุณจะจำตัวเองวันนี้ไม่ได้เลย!!
.
.
2. Use Photographic Memory! เรียนรู้เป็นภาพ ไม่ใช่ตัวอักษร!
.
เลิกท่องศัพท์(แบบเดิมๆ)ได้แล้ว
.
หยุดการท่องศัพท์แบบเป็นลิสต์ยาวๆที่เราต้องมาแปลเป็นไทย หันมาใช้วิธีเรียนรู้ศัพท์แบบเป็นภาพ เป็นเรื่องราวแทน
.
ใครยังท่องศัพท์แบบเดิมๆ ไม่มีทางพูดอังกฤษได้คล่อง พูดเลย!
.
.
.
.
3. Don’s Study Grammar rules! หยุดท่องกฏแกรมม่าร์ซะ!
.
ใครยังนั่งท่อง S+V to be+V ing+ …+ …+ ….ไปเรื่อยๆ หรือยังท่องกริยา 3 ช่อง ท่องกฏไวยากรณ์ต่างๆ
.
ถ้าท่องไปสอบ ท่องไว้เขียน Writing เขียน Essay ต่างๆ นี่โอเค
.
แต่ถ้าท่องไว้ใช้พูด คุณเข้าใจผิดแล้ว!!!
.
ไม่มีใครพูด คล่องเพราะท่องกฏแกรมม่าร์หรอก บอกเลย!
.
.
.
.
4. No Translation! อย่าแปลเป็นไทย!
.
อยากพูดอังกฤษให้คล่อง ต้องพูดได้อย่างเป็นอัตโนมัติ
.
การพูดได้อย่างเป็นอัตโนมัติคือ ฟัง-คิด-พูด ต้องเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด โดยไม่มีการแปลเป็นไทยในหัว
.
เพราะฉะนั้น เราควรพยายามแปลเป็นไทยให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
.
สาเหตุที่เราพูดภาษาอังกฤษแล้วตะกุกตะกัก ไม่ไหลลื่น ไม่เป็นธรรมชาติ เพราะเรามักต้องนึกศัพท์
.
และที่เราต้องนึกศัพท์ เพราะเราคิดเป็นภาษาไทยในหัวก่อนเนี่ยแหละ ถึงต้องแปลกลับมาเป็นภาษาอังกฤษ จึงต้องนึกศัพท์
.
เมื่อไหร่ก็ตามที่คิดเป็นภาษาอังกฤษได้ ก็จะไม่ต้องนึกศัพท์ (แน่สิ คิดเป็นภาษาอังกฤษแล้ว จะนึกศัพท์ภาษาอังกฤษทำไม?)
.
เมื่อนั้น เราจะพูดอังกฤษได้โคตรคล่อง!
.
.
.
.
5. Change Environment! เปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้เหมือนอยู่เมืองนอก
.
พยายามเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทุกอย่างในชีวิตประจำวันให้เป็นภาษาอังกฤษให้ได้มากที่สุด
.
เม้าท์กับเพื่อน >>> พยายามหาเพื่อนฝรั่งคุยแชทบ้าง คุย Skype บ้าง
.
ดูหนัง-ดูละคร >>> เปลี่ยนมาเป็นดูหนัง ดูซีรี่ย์ และต้องดูให้ถูกวิธีด้วย ดูผิดวิธี ดูเป็นพันเรื่องยังไงก็ไม่เก่ง
.
ฟังเพลง >>> จากเพลงไทยสุดดราม่า หันมาฟังเพลงฝรั่งบ้าง (บทความถัดๆไป จะแนะนำเรื่องการฟังเพลงอย่างไร ให้แจ่มที่สุด)
.
ดูข่าว >>> จากดูเรื่องเล่าเช้านี้ ลองเปลี่ยนเป็นดูข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศบ้าง ชอบสำเนียงอเมริกันก็ลอง CNN ถ้าชอบสำเนียงบริทิชเก๋ๆ BBC ก็ถือว่าดีมาก
.
อ่านหนังสือ>>> ลองเปลี่ยนมาอ่านหนังสือต่างประเทศบ้าง เริ่มจากแนวที่ตัวเองชอบก่อนก็ได้ พยายามเริ่มจากง่ายๆไปก่อน
.
ยิ่งเราเปลี่ยนได้มากเท่าไหร่ ผลลัพธ์ยิ่งเกิดเร็วขึ้นเท่านั้น
.
แต่ทั้งนั้นทั้งนี้ อย่าไปฝืน อย่าไปเร่ง อย่าไปเร้า
.
ที่สำคัญที่สุดคือต้อง “ชิลล์” อันไหนฟังไม่ออก อันไหนอ่านไม่เข้าใจก็พยายามฟัง พยายามทำความไม่เข้าใจ ไม่ต้องเครียด
.
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการฝึก คือ การไม่ฝึก
.
การมีความพยายามในการฝึกคือสิ่งที่ดีมาก แต่สิ่งที่ดีมากที่สุดคือการไม่ต้องพยายาม การไม่ฝืน ทำเหมือนเป็นธรรมชาติ
.
ถ้าเราทำสิ่งเหล่านี้ได้อย่างเป็นธรรมชาติเท่าไหร่ เราจะยิ่งพูดภาษาอังกฤษได้ดีและเป็นธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น

แหล่งที่มา : http://www.mindenglish.net/article/5secrets/

5.ปัญหาภาษาอังกฤษของเด็กไทยจาก "มุมมองครูชาวอังกฤษ"

ครูผู้ช่วยสอนชาวอังกฤษกว่า 2 ร้อยชีวิตที่เพิ่งกระจายกันไปช่วยสอนภาษาอังกฤษตามโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย จนครบหลักสูตร ตามโปรแกรม Thailand English Teaching 2013 สะท้อนปัญหาการอ่อนภาษาอังกฤษของเด็กไทย พร้อมชี้แนะต้องเน้นการฝึกฝนออกเสียงให้ถูกต้องเป็นหลัก

        โครงการ Thailand English Teaching 2013 สำเร็จลุล่วงมาจนถึงวันสุดท้าย กระทรวงศึกษาธิการ และ บริติช เคานซิล ร่วมกันจัดงานเลี้ยงส่ง ผู้ช่วยสอนชาวอังกฤษที่ร่วมโครงการกว่าสองร้อยคนที่ โรงแรม ดิแอมบาสเดอร์ สุขุมวิท ซึ่งเต็มไปด้วยทั้งความดีใจที่ทุกคนปฏิบัติภารกิจ 8สัปดาห์ในการช่วยสอนภาษาอังกฤษตามโรงเรียนทั่วประเทศไทยได้สำเร็จ และทั้งเสียใจที่ต้องเดินกล่าวคำอำลากับโรงเรียน ครูผู้ให้การดูแล และประเทศไทย


   โทมัส แบดเจอร์ อาสาสมัครจาก Leeds University ที่เข้าร่วมโครงการ Thailand English Teaching 2013และเข้าไปช่วยสอนภาษาอังกฤษระดับมัธยม 1-6 ที่ โรงเรียนเทพศิรินทร์ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การมาเมืองไทยครั้งนี้เป็นประสบการณ์มีค่าที่หาจากไหนไม่ได้อีก สำหรับผมประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ผมมาเยือน ดังนั้นสิ่งที่ผมเจอหลายๆ อย่างทำให้ผมต้องปรับตัวอย่างมาก โดยเฉพาะทางด้านวัฒนธรรม คนไทยให้การต้อนรับที่อบอุ่นมาก และพร้อมให้ความช่วยเหลือเสมอ

        สำหรับสิ่งที่ยากลำบากในการสอนภาษาอังกฤษคือ ทำอย่างไรให้นักเรียนสนใจและกล้าที่จะพูด เด็กไทยบางกลุ่มที่มีความสนใจในเรื่องของภาษาอยู่ก่อนแล้วมีแนวโน้มที่จะเรียนภาษาอังกฤษได้ดีกว่า โทมัสยังพบว่าความสนใจนี้เป็นตัวทำให้เกิดความแตกต่างด้านความสามารถระหว่างนักเรียนด้วยกันเอง เมื่อถามถึงสิ่งที่อยากฝากไปถึงโรงเรียนไทยที่ต้องการยกระดับด้านภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนของตนเพื่อเตรียมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โทมัสกล่าวเน้นว่า สิ่งที่ชัดเจนมากคือ โรงเรียนควรเริ่มเน้นที่การพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารเบื้องต้นก่อนเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรเพิ่มให้เด็กได้ฝึกฝนการออกเสียงให้ถูกต้อง เพราะการฝึกฝนจะช่วยให้เด็กเรียนรู้อย่างแม่นยำและนำไปใช้ได้จริง

   นาดีน สเวน อาสาสมัครจาก Bristol University ผู้ช่วยสอนที่โรงเรียนบ้านหนองเจ๊กสร้อย จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า สำหรับเด็กบางกลุ่ม เช่นเด็กที่เรียนอ่อนจริงๆ โรงเรียนควรให้ความสนใจในการพัฒนาทักษะเป็นพิเศษ นอกจากนี้เด็กบางกลุ่มที่เรียนและพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่วมักจะมาจากการที่ได้ฝึกฝนเองเพิ่มเติมมาจากที่บ้าน ดังนั้นแล้วปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้การเรียนการสอนจากทางโรงเรียนคือ การเอาใจใส่ของผู้ปกครองและการฝึกฝนที่สม่ำเสมอของเด็กนักเรียน  

        โดยรวมแล้วโครงการ Thailand English Teaching 2013 มีประโยชน์กับเด็กอย่างมากในการที่ช่วยทำให้เด็กหันมากระตือรือร้นเรียนภาษาอังกฤษเพราะได้เรียนกับเจ้าของภาษาจริงๆ และช่วยในเรื่องการออกเสียงภาษาอังกฤษที่ถูกต้องขึ้น ถึงแม้ว่าจะเป็นระยะเวลาเพียง 8 สัปดาห์ แต่เห็นได้ชัดว่าเด็กๆมีความเข้าใจเรื่องการออกเสียงภาษาอังกฤษที่ดีขึ้นมาก ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่อยากฝากให้โรงเรียนไทยเน้นพัฒนาการออกเสียงและการสื่อสารเบื้องต้นให้เด็กก่อนเรื่องอื่นๆ

แหล่งที่มา : https://blog.eduzones.com/inter/114321

4.เหตุผลที่เด็กไทยไม่ค่อยเก่งภาษาอังกฤษ

จริงๆแล้วปัญหาของเด็กไทย ไม่ค่อยเก่งภาษาอังกฤษ ไม่ได้ขึ้นอยู่ครูสอนภาษาอังกฤษเป็นคนไทยหรือไม่อย่างไร แต่องค์ประกอบมีหลายสาเหตุด้วยกัน เหมือนอุปกรณ์หรืออะไหล่ของรถ หากขาดล้อ รถก็วิ่งไม่ได้ หากขาดพวงมาลัย รถก็ไปไม่ได้ ดังนั้นทุกภาคส่วนมีส่วนสำคัญทำให้เด็กไทยเก่งหรือไม่เก่งภาษาอังกฤษ แต่ท้ายที่สุดมันก็ต้องจบลงที่ตัวเด็กด้วยเป็นส่วนสำคัญว่าเด็กมีความสนใจในวิชานี้หรือไม่ สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดที่เป็นรูปธรรม คือระบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษมันผิดพลาดตั้งแต่ต้น เหมือนโจทย์มันผิด จะได้คำตอบถูกต้องได้อย่างไร เช่นถามว่า 2+2 ทำไมถึงได้ 5 การเรียนการสอนที่บ้านเราเน้นให้เด็กเรียนไวยากรณ์มากเกินไป และเรียนเพื่อแค่ให้สอบผ่าน โดยไม่ได้หวังว่าเด็กจะต้องเรียนเพื่อเอาไปใช้ในการทำงานอนาคต ทั้งที่เราเองก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีข่าวสารมาในรูปแบบภาษาอังกฤษมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ มือถือ บางอย่างเริ่มมีภาษาอังกฤษเข้ามาเป็นตัวสื่อ ดังนั้นเราจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบบการเรียนภาษาอังกฤษที่บ้านเราผิดธรรมชาติ คือเน้นการเรียนรู้จากหนังสือมากกว่าการฟัง (จากการพูด การฟัง การสนทนาเป็นภาษาอังกฤษ) ดังนั้นไม่ต้องสงสัยว่าทำไม เด็กไทยจึงเก่งแต่ไวยากรณ์ แต่ไม่เก่งฟัง พูด และสนทนา เพราะระบบสอนให้เราเรียนรู้จากตำรา คือให้เรียนด้วยตา มากกว่า เรียนด้วยหู

ระบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย โดยส่วนมากในระดับโรงเรียนของภาครัฐ ในต่างจังหวัด มีน้อยมาก ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งๆ จะมีอาจารย์เป็นชาวต่างชาติหรือฝรั่งมาสอน ส่วนมากอาจารย์ที่สอนภาษาอังกฤษก็คืออาจารย์คนไทย ดังนั้นประโยชน์ที่เด็กจะได้รับประโยชน์จากการฟังภาษาอังกฤษจากต้นแบบจึงมีน้อยมากหรือไม่มีเลย ชั่วโมงภาษาอังกฤษแต่อาจารย์ผู้สอนพูดไทยเกือบทั้งชั่วโมง บรรยายเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษโดยเนื้อหาเด็กได้แค่ไวยากรณ์ แต่ทักษะการฟัง การพูด การสนทนา เด็กไม่ได้

เมื่อเทียบกับโรงเรียนอินเตอร์ ในรายวิชาเดียวกัน อาจารย์ฝรั่งสอนเสร็จ บางโรงเรียนจะตามด้วยอาจารย์คนไทยสอนอีกครั้ง ให้เด็กได้ฝึกทักษะการฝัง การพูด และจบลงด้วยไวยากรณ์ นี่เป็นเหตุผลหลักทำไมเด็กโรงเรียนอินเตอร์ในประเทศไทยจึงเก่งภาษาอังกฤษ เพราะเขาได้ฝึกทุกวัน ได้ใช้ทุกวัน ได้ฟังทุกวัน ได้พูดทุกวัน และบางโรงเรียนบังคับ หากนักเรียนคนใดพูดไทยปรับคำละ 5 บาท แต่สำหรับโรงเรียนของรัฐ ครั้นครูหรือศักยภาพของโรงเรียนจะทำอย่างนั้นไม่ได้ จะบรรยายเป็นภาษาอังกฤษให้เด็กฟัง อาจจะมีปัญหาเด็กฟังไม่รู้เรื่อง ทำให้ระบบการเรียนการสอนล่าช้า เพราะปัญหาสำหรับบ้านเราก็คือขอแค่ให้สอบผ่าน วิชาภาษาอังกฤษแต่อาจารย์ผู้สอนบรรยายเป็นภาษาไทยดังนั้นผลลัพธ์ออกมาจึงไม่ใช่เรื่องแปลก สิ่งที่เด็กจะได้นั่นก็คือไวยากรณ์ มากกว่าการฟัง การพูด การสนทนา และการออกเสียงที่ถูกต้องของศัพท์หรือกลุ่มคำ การออกเสียง การขึ้นลงของคำ มีส่วนสำคัญอย่างมาก ในการพูดภาษาอังกฤษ

เด็กไทยเกือบร้อยละ 80% เรียนภาษาอังกฤษ ผิดธรรมชาติ อย่างที่ผมเคยบอกไปแล้วว่า หลักโดยทั่วไปการเรียนภาษาใดๆในโลกใบนี้ หลักเริ่มต้นก็คือ ฟัง พูด อ่าน เขียน แต่คนไทย เรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่อนุบาล จนถึงปริญญาโท หรือปริญญาเอก อาศัยหลักการย้อนศรก็คือ เขียน อ่าน พูด และฟัง จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไม คนไทยจึงเรียนภาษาอังกฤษใช้ระยะเวลานานมากๆ เพราะหัวใจหลักของการพูดภาษาอังกฤษให้ได้ผล เราเอาไปไว้ท้ายสุด นั่นก็คือ การฝึกการฟัง การพูด บางประเทศ เช่น เบลเยี่ยม หรือเดนมาร์ค หรืออีกหลายประเทศ ที่เขามีภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองหรือสามเหมือนเมืองไทย เขาสอนภาษาอังกฤษกันไม่ถึงระยะเวลา 10 ปี สามารถพูด อ่าน เขียนได้ดี แต่สำหรับคนไทยแล้ว ตั้งแต่ ประถม (6-7ปี) มัธยม (6ปี) ปริญญาตรี (4-5 ปี) ปริญญาโท (4-5 ปี) หรือแม้กระทั่งปริญญาเอก เราก็ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ดูระยะเวลาการเรียนภาษาอังกฤษของคนไทย ว่ามันใช้เวลานานมากๆ ไม่ใช่ว่าคนไทยเรียนไม่เก่ง แต่เพราะสาเหตุหลักๆก็คือ เด็กไทยส่วนมาก ไม่ค่อยได้มีโอกาสฝึกทักษะการเรียนภาษาอังกฤษแบบธรรมชาติ นั่นก็คือ ฝึกการฟังและการพูด นี่ต่างหาก ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กไทยเรียนภาษาอังกฤษกันตั้งแต่เด็กจนกระทั่งแก่ แต่ภาษาอังกฤษก็ยังใช้การไม่ได้ ผมให้ข้อสังเกตง่ายๆ ทำไมเด็กที่เรียนมหาวิทยาลัยอินเตอร์ถึงเก่งภาษาอังกฤษ ก็เพราะเขาได้ฝึกพูดทุกวัน ได้ฟังทุกวัน
ผมมีวิธีการเรียนภาษาอังกฤษแบบได้ผลจริงๆ มาฝากน้องๆ บางครั้งสำหรับน้องๆท่านใด ที่ยังยึดติดอยู่กับ กรอบความคิด ความเคยชิน แบบเดิมๆ อ่านไปก็รู้สึกมันขัดกับนิสัยคนไทย อย่างไรบอกไม่ถูก ต้องพยายามกระโดดออกมาจาก ตรงนั้นให้ได้ และทำใจให้เป็นกลาง แล้วภาษาอังกฤษของน้องๆ จะได้ผลอย่างเห็นได้ชัด จากการเรียนภาษาอังกฤษแบบธรรมชาติ อย่ารีบร้อน กฎนี้ ชื่อว่า ขันไดเจ็ดขั้น คือ

1. Always Study and Review Phrases, Not Individual Word คือให้เรียนและจำเป็นวลี ไม่ใช่เรียนแบบเป็นคำๆ เช่นจำคำว่า Home บ้าน Come มา Go ไป หรือท่องกริยาสามช่อง อย่าครับ อย่า.....คนไทยส่วนมากเรียนภาษาอังกฤษด้วยท่องจำคำศัพท์ แต่ทว่าคนอังกฤษเขาไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษด้วยการจำคำศัพท์เป็นคำๆ คนอังกฤษเขาเรียนเป็น Phrase (อ่านว่า "เฟรช") ก็คือกลุ่มคำหนึ่งๆ ซึ่งมีความหมายแต่ไม่สมบูรณ์ในตัวมันเองเหมือนกับประโยค ขอยกตัวอย่าง เช่น
"in the corner" = ในมุมๆหนึ่ง (มันสื่อสารไม่สมบูรณ์ ก็เพราะ 1.ไม่รู้มุมอะไร? 2.ใครทำอะไรกับมุม? 3.มันเกิดอะไรขึ้นกับมุม?) จะเห็นว่าความหมายจาก Phrase มันสื่อได้ไม่สมบูรณ์ในตัวมันเอง ลักษณะต่อไปนี้จะเจอในกลุ่มคำที่เป็น Phrase
1.ไม่มีกริยาแท้(Finite verb)ในตัวมันเอง
e.g. The sun rises in the east.
2.สามารถทำหน้าที่แทนWord Classหนึ่งๆในประโยค อาจเป็นคำนาม (Noun)/ เป็นคำกริยา (Verb)/ เป็นคำคุณศัพท์ (Adjective)/ เป็นคำบุพบท (Preposition)/ เป็นคำกริยาวิเศษ (Adverb) เป็นต้น
e.g. The tops of the mountains were covered with snow.
3.เป็นกลุ่มคำที่ประกอบกันจากตั้งแต่ 2คำขึ้นไป
e.g. John is a man of honor.
4.ในแต่ละPhraseจะมีคำหลัก(Head)ซึงเป็นตัวสำคัญที่บ่งบอกว่าPhraseนั้นทำหน้าที่อะไรในประโยค
e.g. My neighbour in the house to the left is a good friend. [Head = neighbour = Noun phrase ]
5.ใน 1 phraseอาจมหลายๆ phraseย่อยๆทับซ้อน(nested)อยู่ใน 1 phraseนั้นๆก็ได้
e.g. "My neighbour in the house to the left" = Noun phrase
"in the house" = Phrase1 (Prep phrase ทำหน้าที่ Adjขยาย my neighbour)
" to the left" = Phrase2 (Prep phrase เป็นAdj ขยาย the house)
คำเหล่านี้ ฝรั่งเรียกว่า phrase หากต้องการเรียนให้ได้ผล ควรจะจำคำเหล่านี้มากกว่า คำโดดๆ เช่น Home House Accept Except etc. เพราะบางครั้งการสนทนาภาษาอังกฤษ บ่อยครั้ง ที่ใช้ Phrase ในการตอบคำถาม

2. Don’t Study Grammar ห้ามเรียนไวยากรณ์ โดยเฉพาะข้อนี้ อาจจะเป็นอะไรที่ขัดใจกับคนไทยเป็นอย่างมาก เพราะคนไทยส่วนมาก ยึดติดรูปแบบไวยากรณ์มากเกินไป จึงเป็นเหตุทำให้คนไทย เวลาจะพูด ต้องคิดสองระบบ คือต้องผ่านกระบวนการคิดเป็นภาษาไทยก่อนแล้วค่อยคิดเป็นภาษาอังกฤษนั่นก็คือ คิดเป็นรูปแบบไวยากรณ์ อย่าลืมว่า หากจะเรียนภาษาอังกฤษให้ได้ผลจริงๆ ต้องเรียนด้วยหู ไม่ใช่ด้วยตา! เหตุผลเป็นจำนวนมากที่คนไทยคุยกับฝรั่งไม่รู้เรื่องเพราะ เราไม่ได้ออกเสียง เหมือนอย่างที่คนฝรั่งเขาออก เช่นภาษาอังกฤษแบบคนไทยออกเสียงเป็น Menu (เมนู) แต่ฝรั่งออกเสียงเป็น (เมนิว) ภาษาอังกฤษแบบไทย ออกเสียง International อินเตอร์เนชั่นแนว หรือ แนล แต่ฝรั่งออกเสียงเป็น อินเตอร์เนชั่นเนิล American share ซึ่งหมายถึง มีอะไรก็มาแบ่งๆ กัน หรือเวลาไปทานข้าว ก็มักจะได้ยินคนไทยพูดว่า American Share แต่ฝรั่งเขาไม่รู้เรื่อง เพราะเขาไม่ได้ใช้คำนี้ เขาใช้คำว่า Let’s go Dutch นี่หมายถึง แบ่งๆกัน หรือแชร์กัน

3. The Most Important Rule, Listen First กฎข้อนี้ก็คือ ฝึกฟัง ฟัง และฟัง ให้มากๆๆ การอ่านหนังสือก็ดี เรียนไวยากรณ์ก็ดี หรือจำคำศัพท์ก็ดี ไม่ได้ช่วยให้การพูดภาษาอังกฤษดีขึ้น เพราะการเรียนภาษาอังกฤษให้ได้ผล ต้องเรียนด้วยหู ไม่ใช่ด้วยตา การฟังเป็นสิ่งสำคัญมากๆ มันก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอีกว่า คุณเรียนภาษาอังกฤษที่ไหน หากเรียนในห้องเรียน มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้านั่นก็คือ เราเรียนเพื่อให้สอบผ่าน นี่คือเป้าหมายของการเรียนภาษาอังกฤษในห้องเรียน แต่เป้าหมายเพื่อนำไปใช้ในการทำงานหรืออนาคต แทบจะไม่มี

4.Slow, Deep Learning is Best วิธีการนี้นั่นก็คือ เรียนช้าๆ สุขุมลุ่มลึก ความลับสำหรับการทำให้พูดภาษาอังกฤษง่ายนั่นก็คือเรียนทุกคำ และวลี อย่างละเอียด บางครั้งเราเปิดดิกชั่นนารี ก็เพื่อให้รู้แค่ความหมาย แต่เราไม่ค่อยดูเนื้อหาของคำ ว่าคำนี้ทำหน้าที่อะไรได้บ้าง นอกจากเป็นประธาน เช่นคำว่า Practice หรือคำว่า Practise ต่างกันตรงไหน และคำว่า เบื่อ I am bored ผมเบื่อ หากเป็น I am boring ผมเป็นคนน่าเบื่อ This book is very interesting หนังสือเล่มนี้น่าสนใจมาก I am interested in this book ผมสนใจหนังสือเล่มนี้ because this is very interesting เพราะมันน่าสนใจดี เป็นต้น

5. Use Point of View Mini-Stories กำหนดเรื่องราวของเรื่องภายในประโยค ด้วยการฟังเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นโครงสร้าง หรือเนื้อเรื่อง ที่เป็นกาล อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ปัจจุบันนี้ มีบทหรือเนื้อหานิทาน ที่เขาทำเอาไว้ ใน 1 เรื่อง แต่ทำเอาไว้เป็น 3 tenses อดีต ปัจจุบัน และอนาคตให้เราได้ฟัง คือเรื่องเดียวกัน แต่ทำเป็น 3 tense สามารถหาดาว์นโหลดมาฟังได้ในอินเตอร์โดยทั่วไป และมีบทให้เราได้อ่านตามด้วย ฟังการออกเสียง และฟัง tense แต่ละ tense เป็นการเรียนหลักไวยากรณ์ด้วยการฟัง และจำ ซึ่งจะได้ผลมากกว่าเรียนด้วยตำรา (text book) และทำให้กระบวนการพูดภาษาอังกฤษไม่ติดขัด เช่น Yesterday I went to school. Today I am going to school. Tomorrow I will go to school / Tomorrow I am going to school.

6. Only Use Real English Lessons and Materials ถึงแม้เราจะเรียนมามากเกี่ยวกับตำราไวยากรณ์ แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเข้าใจคนอังกฤษพูด เพราะสำเนียงการพูด ความไว การออกเสียง แตกต่างจากในตำราอย่างมาก หรือแม้กระทั่งในเทปหรือแผ่นซีดี ที่เราเห็นเขาเรียนกันโดยทั่วไป เพราะเวลาเราเจอคนอังกฤษจริงๆ ภาษาที่เขาใช้กับเราก็คือภาษาแสลง (Slang) (ไม่เป็นทางการ แบบเพื่อน) เช่น What’s up? How’s going? เป็นไงบ้าง อีเดี้ยม (Idioms) กลุ่มคำ Don’t be a chicken guy? อย่ากลัวไปเลย That’s a bommer ซวยจริงๆ หากอยากฟังภาษาอังกฤษรู้เรื่อง ต้องเรียนภาษาอังกฤษที่แท้จริง จะเรียนภาษาอังกฤษที่แท้จริงได้ที่ไหนนะเหรอ จากหนังไง ทีวีโชว์ของฝรั่ง ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นภาษาที่คนอังกฤษที่เขาใช้กันในชีวิตประจำวัน เหมือนตำราภาษาไทย สวัสดีครับ เต็มดาษดื่น ในหน้ากระดาษหรือบทเรียน แต่ในชีวิตจริงของคนไทย หวัดดี เป็นไงบ้าง ว่าไง

7.Listen and Answer not Listen and Repeat ฟังแล้วให้ตอบ ไม่ใช่ฟังแล้วให้พูดตาม การฟังแล้วพูดตามจริงๆ ก็คือการ copy สำเนียงหรือคำพูด แต่นั่น ยังก็ยังไม่ใช่เป็นการฝึกการฟังภาษาอังกฤษอย่างแท้จริง แต่เมื่อเราได้ยินคำถามและเราตอบคำถามนั้น นั่นหมายความว่า เรากำลังคิดเป็นภาษาอังกฤษ เป็นการฝึกในการรับฟัง ในการสนทนา เพราะการโต้ตอบ ต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 4-5 วินาที ดังนั้น ในช่วงระยะเวลา 4-5 วินาทีนี้ เราจะต้องคิดเป็นภาษาอังกฤษได้แล้วว่า เราจะต้องตอบอย่างไร
ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นการฝึกภาษาอังกฤษแบบธรรมชาติ อาจจะเป็นอะไรใหม่สำหรับคนไทยหลายๆ คน ที่ยังไม่พร้อมสำหรับสิ่งใหม่ หรือยังยึดติดรูปแบบเดิมจากการเรียนภาษาอังกฤษ ที่สังคมได้วางกรอบเอาไว้มาหลายยุคหลายสมัย นั่นก็คือ เรียนทางตำรา หากไม่มีอยู่ในตำราแสดงว่าใช้ไม่ได้ หากคุณอยากพูดภาษาอังกฤษเก่ง คล่อง วิธีการทั้ง 7 จะทำให้ย่นระยะเวลาได้มาก แต่หากอยากเก่งไวยากรณ์ ก็ต้องเรียนทางตำรา แต่ยังยึดติดกับตำรา ตำราจะไม่ช่วยทำให้การพูดภาษาอังกฤษของคุณดีขึ้นได้เลย นอกจากเก่งไวยากรณ์ ในบรรดาทักษะทั้ง 4 อย่าง ฟัง พูด อ่าน เขียน อย่างไหนสำคัญกว่า ทุกอย่างสำคัญเท่ากันหมด มีขึ้นอยู่กับว่า เราจะใช้งานอย่างไหนมากกว่ากัน หากเป็นไกด์ ฟังและพูด สำคัญมาก หากเป็นนักเขียนนักแปล หลักไวยากรณ์สำคัญมาก ดังนั้นไม่มีอะไรผิดอะไรถูก ว่าคุณจะเรียนแบบไหน แต่มันขึ้นอยู่กับว่า คุณจะเลือกเรียนแบบไหนมากกว่า

แหล่งที่มา : English Day Thailand - EDT